เมื่อเดือนที่แล้ว เราได้ไปงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ แล้วก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อว่า “คุณโทมาริ นักจัดบ้านด้วยการจัดใจ” พอเห็นชื่อเรื่องเราก็หยิบทันที เพราะกำลังอินกับการจัดบ้าน แล้วพอเห็นชื่อผู้แปลคือ คุณกนกวรรณ เกตุชัยมาศ ซึ่งเป็นคนแปลเรื่อง “คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง” (อ่านรีวิวได้ใน Link นี้ นะคะ) ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะอ่านได้สนุกและเพลิดเพลินไม่แพ้กัน

“คุณโทมาริ นักจัดบ้านด้วยการจัดใจ” เป็นนิยายแปลจากภาษาญี่ปุ่น เขียนโดย มิอุ คาคิยะ และแปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ จัดทำโดยสำนักพิมพ์ Sunday Afternoon

นิยายเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือ how to วิธีการจัดระเบียบบ้านแต่อย่างใด แต่เล่าถึงเรื่องราวต่างๆที่ โทมาริ โอบะ นักจัดบ้านหญิงวัยห้าสิบสี่ปีได้พบเจอเมื่อได้รับจ้างวานให้ไปจัดระเบียบบ้านลูกค้า

“คนที่เก็บกวาดห้องให้เรียบร้อยไม่ได้คือคนที่มีปัญหาทางใจ”

ด้วยความเชื่อนี้ สิ่งที่โทมาริทำจึงไม่ใช่การช่วยทำความสะอาดบ้านให้ลูกค้า แต่เป็นการแนะแนววิธีการจัดเก็บและเลือกทิ้งข้าวของรอบตัว ซึ่งส่งผลต่อมุมมองความคิดและการใช้ชีวิตของลูกค้าเหล่านั้น ซึ่งลูกค้าแต่ละคนต่างก็มีอาชีพ ช่วงวัย และปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อโทมาริได้เข้ามาช่วยจัดระเบียบบ้านให้เขาเหล่านั้นแล้ว ชีวิตและจิตใจของพวกเขาก็ได้ถูกจัดระเบียบให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้นไปด้วยค่ะ

และแน่นอนว่าระหว่างที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ ความคิดและจิตใจของเราก็จะได้รับการจัดระเบียบไปด้วยเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่เราชอบเวลาอ่านนิยายแปลของญี่ปุ่น คือเรามักจะได้เรียนรู้แนวความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่างๆของชาวญี่ปุ่นไปด้วย

อย่างเช่นเรื่องการทิ้งขยะ หลายๆคนคงเคยเห็นบ้านขยะในญี่ปุ่นใช่มั๊ยคะ ที่ทั้งบ้านกองสุมไปด้วยขยะมากมายจนแทบไม่มีทางเดิน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเริ่มจากการไม่เอาขยะไปทิ้งตั้งแต่ตอนที่มันมีแค่ถุงสองถุง ตอนแรกเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า อิแค่ถุงขยะก็แค่เอาไปทิ้งมันยากตรงไหนกันนะ แต่พอมาอ่านนิยายเล่มนี้ เราถึงเข้าใจได้ว่า เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเขาจะมีวันทิ้งขยะที่กำหนดเอาไว้ ไม่ใช่ว่าอยากทิ้งวันไหนตอนไหนก็ทิ้งได้เหมือนบ้านเรา ทีนี้พอคนเราออกไปทำงานแต่เช้า กลับมาก็ค่ำมืด ถ้าเกิดเผลอลืมหยิบถุงขยะไปทิ้งในวันที่กำหนดตอนเช้าสักครั้งนึงแล้ว มันก็จะถูกกองทิ้งไว้ที่บ้านต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ แล้วถ้ายังเผลอลืมทิ้งอีกในสัปดาห์ต่อไป ขยะเดิมบวกขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้นมันก็ยิ่งมากขึ้นๆ จนนึกได้อีกทีก็ท้อแท้ใจที่จะขนเอาไปทิ้งซะแล้ว

หรือเรื่องการชอบใช้เสื้อผ้าแบรนด์หรู หรือความรู้สึกหวงข้าวของที่ไม่สามารถตัดใจทิ้งของเก่าเก็บออกไปได้ ความคิดเหล่านี้ก็มีผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ของคนในประเทศญี่ปุ่นที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวต่างๆเหล่านี้แฝงไว้อยู่ในการเล่าเรื่องของนิยายเล่มนี้อย่างกลมกลืน และทำให้เราได้รับความรู้เหล่านี้มาอย่างไม่รู้ตัวเลยค่ะ

สรุปแล้วใครที่ชอบหรือกำลังสนใจเรื่องการจัดระเบียบบ้าน แม้ว่าจะมาอ่านเล่มนี้แล้วจะไม่ได้เทคนิควิธีการจัดบ้านใดๆกลับไป แต่สิ่งที่ได้คือการจัดระเบียบความคิดและจิตใจ รวมถึงความรู้รอบตัว และความสนุกสนาน เศร้าซึ้ง รวมถึงความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจกลับไปแน่นอนค่ะ

Leave a comment